“บัตรทอง” รักษา “โควิด-19” ฟรี ครอบคลุมหรือมีเงื่อนไขอย่างไร

"บัตรทอง" รักษา "โควิด-19" ฟรี

บัตรทอง 30 บาท ครอบคลุมรักษาโรคโควิด-19 ต้องสงสัยป่วยรีบไปโรงพยาบาลตามสิทธิ “ย้ำ” น้ำยาตรวจ มีจำกัด ไม่เจ็บป่วยอย่าขอตรวจ เพิ่มภาระให้บุคลากรทางการแพทย์เมื่อวันที่ 3 มี.ค.63 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่หลักการปฏิบัติตนสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 โดยผู้ที่มีอาการเข้าข่ายสงสัยว่าป่วยโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน กรณีไปต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลของรัฐ สวมหน้ากากอนามัย แจ้งประวัติไม่ปกปิดข้อมูล เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อโคโรนา 2019 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับอาการป่วยเข้าข่ายโควิด-19 ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้

1. มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป

2. มีอาการระบบทางเดินหายใจ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว เหนื่อย หายใจลำบาก

3. ช่วง 14 วันก่อนมีอาการ ได้เดินทางไป/มา หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด ,มีอาชีพใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ระบาด, มีประวัติใกล้ชิด/ส้มผัสผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด19

4. เป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้โดยมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ/เป็นบุคลากรทางการแพทย์/ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรงที่หาสาเหตุไม่ได้

ในส่วนของผู้ที่อาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์แต่สงสัยว่าจะป่วย แล้วต้องการตรวจหาเชื้อโดยแพทย์ไม่ได้วินิจฉัย ไม่แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจเอง ใช้สิทธิบัตรทองไม่ได้ แม้จะจ่ายเงินเองก็ไม่ควรไป ทั้งนี้การไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นเพิ่มโอกาสเสี่ยงรับเชื้อ เพิ่มภาระให้บุคลากรสาธารณสุขโดยไม่จำเป็น รวมทั้งน้ำยาที่ใช้ตรวจโรคโควิด-19 มีจำนวนจำกัด ต้องเก็บไว้ใช้เมื่อจำเป็นกับผู้ป่วยกลุ่มเฝ้าระวังเท่านั้น

ประกัน COVID เสริมความมั่นใจสำหรับคนไร้สวัสดิการ

ประกัน COVID

สธ.ยันติด “โควิด-19” รักษาฟรีทุกราย เตรียมกว่า 1 แสนเตียง-บุคลากรแพทย์กว่า 3 หมื่นคน

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า รัฐบาลมีความห่วงใย จึงดูแลประชาชน โดย 1.หากประชาชนพบว่ามีอาการไข้ ไอ ไม่สบาย และมีประวัติเสี่ยง เช่น เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ มีประวัติว่าไปสัมผัสกับผู้คนเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือมีอาชีพใกล้ชิดนักท่องเที่ยว ให้สวมหน้ากากอนามัย และเดินทางไปรับการตรวจหาเชื้อไวรัสที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษาได้ทันที ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เช่น ประกันสังคม บัตรทอง ได้ทั่วประเทศ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หากมีสถานพยาบาลใดเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ให้แจ้งไปที่ สธ. สายด่วน 0111 เพื่อดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เมื่อไปถึงให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า 2.หากผู้ที่ยังไม่มีอาการป่วย แต่มีประวัติเสี่ยง ให้สวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์ และแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเองว่าควรจะต้องตรวจหาเชื้อหรือไม่ และ 3.แต่หากไม่มีอาการป่วยและไม่ใช่ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ สธ.แนะนำว่าอย่าเข้ารับการตรวจ แต่หากประสงค์ที่จะตรวจหาเชื้อจะต้องเสียค่าใช้เองทั้งหมด แต่กรณีนี้ หากตรวจแล้วพบว่าผลออกมาเป็นบวก คือ มีการติดเชื้อไวรัส ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็จะทำการเคลมค่ารักษาทั้งหมดตามสิทธิ์รักษาของผู้ป่วยรายนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีใดจะเข้าการใช้สิทธิ์นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า คำว่ายูเซป คือ การให้รักษาครอบคลุมในภาวะฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง แต่กรณีของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หากมีประวัติเสี่ยง และมีอาการที่รุนแรง ไม่สามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษาได้ กรณีนี้ ยูเซปครอบคลุมได้ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินให้มีการรักษาโรคนี้ให้ครอบคลุมได้ตลอดจนอาการหายเป็นปกติ

เมื่อถามว่า มีผู้ป่วยแจ้งว่าไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา2019 แต่ว่าแพทย์แจ้งว่าเตียงไม่พอรองรับผู้ป่วย สธ.ได้มีการรับเรื่องร้องเรียนหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ข้อเท็จมีเครือข่ายเตียงรองรับอยู่แล้ว เช่น หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 แล้ว ระบบเตียงมีเพียงพอ และสามารถติดต่อประสานกับเครือข่ายส่งต่อได้ และถ้าหากพบปัญหาดังกล่าวให้ร้องเรียนที่สายด่วน 0111 เนื่องจาก สธ.ได้ดำเนินการร่วมกับทุกหน่วยงาน เช่น แพทย์ทหาร แพทย์ตำรวจ แพทย์เอกชน ในการทำงานร่วมกัน

เมื่อถามอีกว่า มีความพร้อมรองรับผู้ป่วยหรือไม่ และการเตรียมการมีความคืบหน้าอย่างไร นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า สธ.ไม่ได้ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว แต่ร่วมกับแพทย์ทหาร แพทย์ตำรวจ และแพทย์เอกชน รวมถึงแพทย์จิตอาสา กำลังแพทย์ที่จะเข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ประมาณ 30,000 ราย และมีเตียงไม่ต่ำกว่า 100,000 เตียง ทุกโรงพยาบาลของ สธ.ในทุกจังหวัด มีตั้งแต่ รพ.ศูนย์, รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับ รวมถึงในแต่ละจังหวัดได้มีการออกแบบเพื่อรองรับไว้แล้วอย่างเหมาะสม และชุดปฏิบัติการ PPE มีความเพียงพอ รวมถึงการคาดการณ์ไปถึงที่เลวร้ายหรือแย่ที่สุดแล้ว แต่ยืนยันว่า ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างดี

“วันนี้ต้องปรับมาตรการมากพอสมควร ไม่ใช่ว่ามีการเปลี่ยนจากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 แต่มีสิ่งหนึ่งที่บอกว่าหากเราไม่ทำมาตรการเหล่านี้ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงต่อไป” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

LOVE - LIKE - SHARE