ความเสี่ยงทางการเงิน: เตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องร้ายๆ แล้วชีวิตจะเจอแต่เรื่องดีๆ

The Money Case by The Money Coach ความเสี่ยงทางการเงิน

หลายคนมักมุ่งมั่นตั้งใจลงทุนให้ประสบความสำเร็จทางการเงินจนลืมไปว่าเราต้องหาวิธีป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงทางการเงินด้วย เช่น หัวหน้าครอบครัวที่จากไปก่อนวัยอันควรแล้วทิ้งภาระไว้ให้คนข้างหลังจนจัดการต่อไม่ไหว หรืออุบัติเหตุอุบัติภัยที่อาจจะเข้ามาทำให้กระทบทางการเงินเข้าอย่างจัง

ฟังแนวทางการจัดการความเสี่ยงเรื่องเงิน เคสที่เกิดขึ้นจริง รู้วิธีป้องกัน รวมถึงตอบคำถามสำคัญว่าเราควรทำประกันไว้หรือไม่


 

The Money Case ตอนนี้เป็นการเงินที่หลายคนมักมองข้าม หลายครั้งที่พูดถึงเรื่องการเงิน เราจะคิดถึงเรื่องการเติบโตทางการเงิน ผลตอบแทน หรือการประสบความสำเร็จด้านการเงินต่างๆ

เรื่องหนึ่งที่ไม่ว่าบรรยายสักกี่ครั้ง คนจะไม่ตื่นเต้นกันสักเท่าไร ก็คือเรื่อง การจัดการความเสี่ยงทางการเงินส่วนบุคคล

ทุกคนอาจพบเจอเรื่องไม่คาดฝันและมักจะกระทบกับเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โค้ชเริ่มมาสนใจเรื่องความเสี่ยงทางการเงินจากข่าวของวิศวกรคนหนึ่งที่เพิ่งเรียนจบ ทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง ทุกเย็นวันศุกร์เขาต้องขับรถกลับกรุงเทพฯ ใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์กับคนที่บ้าน เช้าวันจันทร์ก็รีบขับรถไปทำงานที่ระยอง เช้าวันหนึ่งเขาขับรถไปเจอรถคันหนึ่งประสบอุบัติเหตุอยู่ข้างทาง จึงลงไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ขณะนั้นเองก็มีรถสิบล้ออีกคันเสียหลักพุ่งชนซ้ำไปที่รถคันนั้น เขาเสียชีวิตคาที่ ที่สะเทือนมากกว่านั้นคือเขาเป็นวิศวกรที่เติบโตในหน้าที่การงาน มีแนวโน้มจะได้ไปทำงานต่างประเทศ และเป็นคนสำคัญของครอบครัว การจากไปของเขาทำให้ภาวะการเงินของครอบครัวประสบปัญหาทันที

ความผันผวนของการเงินในชีวิต

โค้ชตั้งคำถามกับตัวเองว่า ไม่ต้องถึงกับจากไปหรอก ถ้าโค้ชเจ็บป่วยและทำงานต่อไม่ได้ ที่บ้านจะประสบปัญหาอย่างไรบ้าง คนเรามีความไม่แน่นอนในชีวิตสูง โค้ชจะบอกเสมอว่าการเงินในชีวิตคนเรามันไดนามิก มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ไดนามิกแบบที่ 1 คือตามช่วงอายุเรา เริ่มต้นทำงานก็มีการเงินแบบหนึ่ง แต่งงานมีครอบครัวก็มีการเงินแบบหนึ่ง ใกล้เกษียณ ลูกเรียนจบ ผ่อนบ้านหมดแล้วก็มีรูปแบบการเงินอีกแบบหนึ่ง

ไดนามิกแบบที่ 2 คือตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือโชคร้ายถึงขั้นเสียชีวิต ภัยต่างๆ เหล่านี้มีผลกระทบกับเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อไรคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจากไป คนในครอบครัวด้านหลังก็กระทบกระเทือนอย่างแน่นอน

 

“เวลามองเรื่องการเงิน อย่ามองแค่เรื่องมุ่งมั่น ลงทุน สร้างรายได้ให้ประสบความสำเร็จอย่างเดียว ต้องหาวิธีป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงทางการเงินด้วย”

 

เคส: ให้ช่วยวางแผนการเงินเป็นครั้งสุดท้าย

มีลูกศิษย์คนหนึ่งมาปรึกษาว่ามีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และต้องวางแผนทางการเงินใหม่ โดยจะขอรบกวนเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนหน้านี้เพิ่งตัดสินใจซื้อบ้านราคา 6 ล้านบาท และไปตรวจสุขภาพมา พบว่าตนเองเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย เขามีความกังวลมาก เนื่องจากแฟนออกจากงานประจำมาดูแลลูกอย่างเดียว เขาเป็นเสาหลักของครอบครัว ความกังวลคือเพิ่งซื้อบ้านใหม่ อยากให้โค้ชช่วยวางแผนให้มีความมั่นใจว่าถ้าวันหนึ่งเขาไม่อยู่ บ้านหลังนี้จะยังเป็นของครอบครัว และไม่สร้างภาระให้ภรรยาและลูกมากเกินไป

เขาเริ่มกระบวนการรักษาและสู้กับโรคร้าย แต่ปรากฏว่าเขาก็เสียชีวิตหลังจากการทำเคมีบำบัดเพียง 2 ครั้ง

โค้ชเชื่อเสมอว่าเขาจะอยู่รอด และไม่คิดว่าเขาจะจากไปด้วยเวลาที่สั้นขนาดนั้น เพราะเหมือนเป็นพันธะสัญญากันอย่างหนึ่งว่าจะช่วยดูแลแผนการเงินของครอบครัวเขาให้รอดไปได้ แม้แต่วันที่ไปงานศพ โค้ชก็ยืนยันกับแฟนเขาว่าจะช่วยดูแลงบการเงินและแผนการเงินต่างๆ ให้ผ่านไปได้ด้วยดี สิ่งที่เป็นความโชคดีสักหน่อยคือระหว่างที่ทำงานมาตลอดเขาเก็บเงินไว้พอสมควรร่วม 2 ล้านบาท ซึ่งทำให้พร้อมหากเกิดต้องต่อสู้กับโรคร้าย เงินตรงนี้ก็เป็นเงินหมุนเวียนให้ครอบครัวตั้งหลักได้ และเขายังมีประกันชีวิตช่วยดูแลเรื่องสถานะทางการเงินในช่วงระยะเวลาปรับตัวได้พอสมควร

รูปแบบของความเสี่ยงทางการเงิน   

1. ความเสี่ยงทางการเงินต่อตัวบุคคล เช่น การจากไปก่อนวัยอันควร เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ตกงาน รวมไปถึงเรื่องมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ

2. ความเสี่ยงทางการเงินต่อทรัพย์สิน เรื่องนี้โค้ชจะไม่ค่อยเป็นห่วง เพราะกับตัวเอง ถ้าให้ป้องกันหรือซื้อประกันชีวิต เงียบ แต่ถามว่าซื้อประกันรถไหม ซื้อ ประกันรถชั้น 1 แน่นอน แต่ชีวิตนี่เอาไว้ก่อน

3. ความเสี่ยงทางการเงินต่อความรับผิดชอบ เช่น การทำงานในบางอาชีพมีความเสี่ยง ถ้ามีความผิดพลาดอาจถูกฟ้องร้องและกระทบกับสถานะทางการเงินได้ อย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินเคสการฟ้องร้องคุณหมอเยอะขึ้น หากเป็นสมัยก่อนแทบไม่มีใครฟ้อง หลายโรงพยาบาลจึงมีการทำประกันความเสี่ยงต่อการรับผิดชอบให้หมอด้วย หรืออีกกรณีที่เราทำธุรกิจส่วนตัวแล้วเกิดความผิดพลาด อย่างการทำก่อสร้างตกแต่งภายในแล้วไปทำให้พื้นที่เสียหาย ตอกตะปู ทำของเขาชำรุด อาชีพเหล่านี้ก็ต้องมีการทำประกันความเสี่ยงไว้เหมือนกัน

4. ความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากบุคคลในครอบครัว เช่น แฟน ลูก พ่อแม่ หลายครั้งมันก็มีผลกระทบกับเราด้วยเหมือนกัน ถ้าเกิดใครมีพ่อแม่เป็นราชการ หากเจ็บป่วย ท่านสามารถใช้สิทธิ์รักษาของข้าราชการได้ แต่ถ้าพ่อแม่ใครเป็นคนธรรมดาทั่วไปแล้วอยากได้สิทธิ์การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นก็อาจเป็นภาระของเราไปด้วย

 

“ความเสี่ยงในชีวิตเรามีหลายเรื่อง และหลายครั้งยังไม่เกิด เพราะเรายังไม่โชคร้าย ถ้าเราบริหารจัดการได้ การเตรียมรับความเสี่ยงไว้บ้างก็น่าจะเป็นเรื่องดี”

แนวทางป้องกันความเสี่ยง

ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงเรื่องอะไร หรือมีโอกาสจะเกิดผลกระทบทางการเงินจากเรื่องใดบ้าง สิ่งที่เราสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการไม่ได้มีแต่ประกันเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากลัวตาย เจ็บป่วย อุบัติเหตุ จริงๆ แล้วแนวทางในการจัดการความเสี่ยงมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ การป้องกัน เป็นวิธีที่ดีกว่า แต่ทำยากกว่า เช่น เรากลัวจะไม่สบาย เจ็บป่วย วิธีการที่ดีกว่าคือการดูแลสุขภาพเป็นพื้นฐานก่อน กินอาหารที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมอารมณ์ไม่ให้มีความเครียดหรือทุกข์ใจมากจนเกินไป โค้ชว่าสิ่งสำคัญใน 4 อย่างที่กล่าวมาก่อนหน้านี้คือการนอน เพราะมันสัมพันธ์กับ 3 อย่างที่เหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเรานอนน้อยเวลา การกินเราจะผิดปกติ ถ้าเรานอนน้อยเวลา เราจะไม่อยากออกกำลังกาย ถ้าเรานอนน้อยเวลา อารมณ์จะหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย กุญแจสำคัญคือการนอนจริงๆ

อีกทางหนึ่งคือ การจัดการ ถ้าหากเราไม่ได้ดูแลตัวเองแล้วมันเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร โดยการจัดการมี 2 วิธีการย่อยคือ ‘การโอนความเสี่ยง’ ซึ่งเป็นการผลักภาระทางการเงินที่เกิดจากปัญหาของเรา ภัยที่เกิดกับเราไปให้บุคคลที่ 3 ก็คือประกันนั่นเอง แทนที่เราเจ็บป่วยแล้วต้องเป็นคนจ่ายค่ารักษาพยาบาล เราก็โยนภาระให้กับบุคคลที่ 3 ก็คือบริษัทประกัน ถ้าเราเสียชีวิตจากไปก่อนวัยอันควรแล้วกระทบกับคนข้างหลัง เราก็ให้บริษัทประกันเป็นคนจ่ายเงินชดเชยมาเพื่อให้คนข้างหลังดูแลตัวเองได้ เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกว่าเราดูแลตัวเองน้อย ให้ซื้อประกันไว้ก่อน

อีกข้อหนึ่งคือ ‘การรับความเสี่ยงไว้เอง’ คือประเมินแล้วว่า ถ้าเกิดเรื่องนั้น มันก็ไม่กระทบกับเงินมาก เราพอจะมีเงินบริหารจัดการได้ เช่น บางคนไม่ทำประกันสุขภาพแบบผู้ป่วยนอก ถ้าป่วยสัก 1,000-2,000 บาทต่อครั้ง จ่ายเองดีกว่า เพราะคิดว่าประกันมีต้นทุนมากเกินไป ซึ่งแต่ละคนให้น้ำหนักไม่เหมือนกัน อยู่ที่มองว่าแบบไหน อย่างไรที่เหมาะกับตัวเรา แต่ถ้าถามโค้ช วิธีที่ดีที่สุดคือบริหารจัดการแบบป้องกัน แล้วเผื่อไว้หน่อยว่าแม้ป้องกันแล้วเจอโชคร้ายก็มีเงินจัดการ

สรุปต้องซื้อประกันชีวิตไหม

คนที่มีความจำเป็นต้องซื้อประกันชีวิตเป็นพื้นฐานคือคนที่แบกรับภาระของครอบครัวไว้ คนที่จากไปแล้วการเงินครอบครัวสั่นสะเทือน แนะนำมากๆ ว่าคนแบบนี้ควรมีประกันชีวิต และควรมีในระดับที่ถ้าเราจากไปวันนี้ คนข้างหลังจะตั้งหลักตั้งตัวได้ ต้องบาลานซ์ให้เหมาะกับทุนของเรา ถ้าเราจากไปแล้วทิ้งไว้ให้คนข้างหลัง 1 ล้านบาท ตั้งหลักได้ประมาณ 3 ปี มันก็พอจะมีเวลาตั้งหลัก เช่น คุณพ่อลูกสอง ภรรยาอยู่บ้านดูแลลูกอย่างเดียว พ่อมีความจำเป็นมากที่จะต้องซื้อประกันชีวิต แล้วต้องซื้อให้พอด้วย ส่วนภรรยาจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ ในขณะที่เป็นเด็กจบใหม่ ทำงานดูแลตัวเองคนเดียว พ่อแม่มีกิจการหรือเป็นข้าราชการ พนักงานประจำที่ท่านดูแลตัวเองได้ คนนี้อาจจะยังไม่ทำประกัน อันนี้โค้ชพูดบนพื้นฐานความจำเป็นที่ต้องประเมินกันเอง

 

“ทุกการประกันความเสี่ยงมีต้นทุน ถ้าทำมากเกินไปก็ถือว่ามีค่าเบี้ยที่สูงเกินไป แต่ถ้าทำน้อยเกินไปก็มีต้นทุนคือ ความอันตรายที่อาจเกิดผลกระทบกับคนข้างหลัง หรือคนในครอบครัวได้”

 

อีกสิ่งหนึ่งที่โค้ชอยากแนะนำ หากเราเป็นคนที่มีความสำคัญกับครอบครัวมาก ทำทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ลองเช็กกับบริษัทว่ามีประกันสุขภาพให้เราเท่าไร อย่างไร ถ้าไม่เพียงพออาจพิจารณาซื้อเพิ่ม และประกันอุบัติเหตุ เพราะหากใครอายุเกิน 35 ปีแล้ว ร่างกายจะมีความเปลี่ยนแปลงสูง โอกาสร่างกายจะเจ็บป่วย ไม่สบาย เริ่มเป็นโรคร้ายแรงเยอะขึ้น และทุกครั้งที่โรคร้ายแรงเริ่มถามหา ค่าใช้จ่ายไม่เบาเลย การที่เราใช้สิทธิ์พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ข้าราชการ ประกันสังคม บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ให้ผลที่ดีประมาณหนึ่ง แต่หากเราพอจะมีกำลังไหว เราอาจจะเลือกที่จะบริหารจัดการตรงนี้ให้ชีวิตได้รับการรักษาที่มีความสะดวกสบายมากขึ้นตามอัตภาพ ประกันโรคร้ายแรงก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ช่วยได้

ซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี

ปลายปีแบบนี้คนก็จะนิยมซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี สิ่งที่อยากจะเน้นก่อนคือต้องไม่ลืมว่าอายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป การชำระเบี้ยจะถึง 10 ปีหรือไม่ ไม่เป็นไร เพราะบางทีมีการชำระเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 10 ปี อย่างนี้ได้ ดูที่ความคุ้มครองเป็นสำคัญ ดูว่าคุ้มครองสั้นยาวแค่ไหน ถ้าเกิน 10 ปี เราจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไปด้วย แต่ก่อนจะซื้อประกันเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อน เราควรคำนึงถึงความเสี่ยงตัวเองก่อน แล้วให้เบี้ยประกันที่เราจ่ายเป็นผลพลอยได้ นี่คือพื้นฐานอันดับหนึ่ง พูดง่ายๆ คือดูตามความจำเป็นเป็นที่ตั้ง แล้วซื้อประกันลักษณะที่พอเหมาะ

หากซื้อพื้นฐานเรียบร้อยแล้วอยากได้สิทธิ์ในการลดหย่อนเพิ่มก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบุคคล บางคนซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพไว้เพื่อคุ้มครองตนเอง ทำทุนประกัน 1-2 ล้านบาท แล้วแต่ละคนประเมินตามความจำเป็น จากนั้นก็ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีอีกส่วนหนึ่ง ก็อาจจะเป็นสะสมทรัพย์ ออมทรัพย์ ต่างกันไปตามแต่ละที่เรียกชื่อ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือคุ้มครอง 10 ปีเป็นอย่างน้อย เราจะได้ทั้งการคุ้มครองความเสี่ยงและสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามการวางแผนได้อย่างเหมาะสมด้วย

ปีนี้เป็นปีแรกของประกันสุขภาพที่เบี้ยไม่เกิน 15,000 บาท ลดหย่อนภาษีได้ แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท สมมติซื้อตามความจำเป็น 50,000 บาท ซื้อประกันสุขภาพ 15,000 บาท เพราะฉะนั้นเรามีวงที่จะซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ ถ้าเราอยากลดหย่อนเพิ่มอีก 35,000 บาท จัดให้เหมาะสม เพียงพอ และคุ้มค่ากับการที่เราจากไปด้วย อย่าให้เกินกำลังที่เราต้องมีภาระส่งทุกปี ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเราสะสมผ่านประกัน มันก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องส่งเบี้ยเป็นประจำ นี่คือเรื่องของความเสี่ยงที่อยากจะฝากไว้

 

“กฎทองแห่งความมั่งคั่งข้อหนึ่งที่โค้ชพูดอยู่เสมอคือ พร้อมรับมือกับเรื่องร้ายๆ แล้วชีวิตเราจะพบแต่เรื่องดีๆ”

 

LOVE - LIKE - SHARE